เขียนโดย: BEW FASTERLIFE

เมื่อ: 13 สิงหาคม 2558 - 16:01

วิธีดูแลรถมอเตอร์ไซค์ระบบส่งกำลังแบบสายพาน ทำยังไงมาดูกัน

 

วิธีดูแลรถมอเตอร์ไซค์ระบบส่งกำลังแบบสายพาน ทำยังไงมาดูกัน

 

Yamaha Fino กับระบบส่งกำลังสายพาน
 

          ในปัจจุบันนี้ต้องยอมรับเลยว่า รถจักรยานยนต์ในระบบส่งกำลังแบบสายพาน หรือรถมอเตอร์ไซค์ออโตเมติกนั้น ได้รับความนิยมสูงที่สุดในบ้านเราเลยก็ว่าได้ เพราะว่าไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะเจอแต่รถออโตเมติกวิ่งกันบนท้องถนนเต็มไปหมด เนื่องจากว่ารถแบบนี้นั้นจะขับได้ง่ายกว่ารถจักรยานยนต์แบบทั่วไปซึ่งจะใช้โซ่ แต่การขับขี่ที่สะดวกสบายก็ต้องแลกมาด้วยข้อเสียก็คือ มันอาจจะไม่ทนทานเท่ากับระบบส่งกำลังแบบโซ่นั่นเองครับ

 

Honda Wave S125 กำลังระบบส่งกำลังด้วยโซ่
 

          ซึ่งวันนี้ BoxzaRacing ของเราก็จะพาทุกท่านมาพบกับเกร็ดความรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลรักษารถจักรยานยนต์ที่ใช้ระบบส่งกำลังแบบสายพาน ว่าจะทำอย่างไรดี ให้รถคู่ใจของเรานั้นสามารถขับขี่และอยู่คู่กับเราไปนานๆ ซึ่งต้องบอกเลยว่า วิธีการนั้นไม่ยากอย่างที่หลายๆ คนคิด แต่จะทำอย่างไรนั้นตามเรามาดูกันเลยครับ

 

ระบบส่งกำลังแบบสายพาน
 

ระบบส่งกำลังแบบสายพานนั้นทำงานอย่างไร?

          ระบบการส่งกำลังแบบเกียร์อัตโนมัตินั้นจะใช้สายพานรูปตัว V (V-Belt) ระบบส่งถ่ายกำลังแบบนี้จะประกอบด้วย ล้อขับสายพานหน้าและล้อปรับความเร็วหลัง หรือที่เราเรียกกันว่า พูลเล่ย์ (Pulley) ซึ่งใช้สายพานรูปตัว V เป็นตัวเลื่อน ดังนั้นการเปลี่ยนอัตราทดจึงขึ้นอยู่กับการเคลื่อนที่ของสายพานรูปตัว V ส่วนประกอบของระบบส่งกำลังที่สำคัญมีอยู่ 3 จุดหลักๆ คือ สายพานรูปตัว V (V-Belt), ชุดพูลเล่ย์หน้า และชุดพูลเล่ย์หลัง โดยทั้งหมดยังมีอะไหล่ประกอบที่จะเรียงจากชุดพูลเล่ย์หลังไปทีละชิ้น เริ่มจาก โอริ่ง, เสื้อคลัทช์, ผ้าคลัทช์, สปริง, ปลอกรองสปริง, ซีลน้ำมัน, โอริง, ล้อพูลเล่ย์หลังตัวใน, ล้อพูลเล่ย์หลังตัวนอก, สลักนำร่อง, สายพานรูปตัว V (V-Belt), แหวนกระทะ, คลัทช์วัน – เวย์, แหวนรองแฉก, ล้อพูลเล่ย์หน้านอก, แหวนรอง, บู๊ชรอง, ซีลน้ำมัน, ล้อพูลเล่ย์หน้าตัวใน, ตุ้มน้ำหนัก, แผ่นเลื่อน, พลาสติคสวมร่องแผ่นเลื่อน และปะเก็นฝาครอบชุดสายพาน  ซึ่งทั้งหมดเป็นอะไหล่ของระบบส่งกำลัง

 

สายพาน V-Belt
 

แล้วเราจะดูแลรักษารถออโตเมติกคู่ใจของเรายังไงดี?

          โดยปกติแล้วผู้ขับขี่ควรจะเข้าเช็คตามระยะที่ทางศูนย์ตั้งไว้ เช่น สายพานควรตรวจสอบในระยะแรกคือ 1,000 กิโลเมตร และหลังจากนั้นก็ตรวจเช็คในทุกๆ 4,000 กิโลเมตร เมื่อถึง 24,000 กิโลเมตร เราก็ควรจะเปลี่ยนสายพาน หรือหากชำรุดก่อนหน้านั้น เราก็สามารถเปลี่ยนได้เลย เพียงเท่านี้ เราก็สามารถดูแลรักษาสายพานของมอเตอร์ไซค์สุดรักได้อย่างง่ายดายแล้วครับ

 

วิธีการตรวจสอบสายพาน
 

แล้วเราจะตรวจสอบสายพานของเราได้อย่างไรดี? วิธีการตรวจสอบมีดังนี้

          เปิดฝาครอบแคร้งสายพานออกก่อน จากนั้นถอดชุดพูลเล่ย์หน้าออกมา ตามด้วยชุดพูลเล่ย์หลัง ก่อนยกชุดสายพานออกให้บีบสายพานเข้าหากันเพื่อสะดวกในการถอด เมื่อถอดทุกชิ้นออกมาแล้วให้ทำความสะอาดคราบฝุ่นละอองที่ติดอยู่ทั้งชุดพูลเล่ย์หน้าและชุดพูลเล่ย์หลัง จากนั้นให้ตรวจสอบเสื้อคลัทช์หากพบว่าสึกหรอให้เปลี่ยนใหม่ ส่วนผ้าคลัทช์หากสึกบางจนเหลือต่ำกว่า 2 มม. หรือเรารู้สึกว่ามันชำรุดแล้ว ก็ควรเปลี่ยนใหม่ ส่วนตุ้มน้ำหนักหากพบว่ามันเบี้ยวไม่กลมจะต้องเปลี่ยนใหม่ยกชุดแต่ที่สำคัญชุดสายพานต้องไม่มีคราบจาระบี น้ำมันหล่อลื่น หรือสารหล่อลื่นใดๆ เลย เพราะมันจะทำให้สายพานลื่น  ระบบการขับเคลื่อนก็จะเสียไปด้วย รถบางคันที่ไม่เคยใช้คันสตาร์ทเลย เมื่อถอดฝาครอบออกมาควรจะทำความสะอาดและใส่จาระบีใหม่ เพื่อให้ระบบสตาร์ทไม่ฝืดและพร้อมใช้งานอยู่เสมอ เมื่อตรวจเช็คเรียบร้อยก็ควรทำความสะอาดก่อนที่จะประกอบ

 

เมื่อประกอบแคร้งเสร็จแล้ว
 

วิธีการประกอบ

          เริ่มจากใส่ล้อพูลเล่ย์หน้าตัวใน ต่อด้วยสายพานเข้ากับชุดพูลเล่ย์หลังแล้วใส่เข้าไปที่เพลาล้อพูลเล่ย์หลัง ใส่เสื้อคลัทช์ (ชามคลัทช์) ขันน็อตยึดพร้อมใส่โอริง (อย่าลืมเด็ดขาด) ต่อด้วยใส่ล้อพูลเล่ย์หน้าและขันน็อตให้แน่น ใส่ปะเก็นฝาครอบชุดสายพาน เมื่อใส่ทุกอย่างเรียบร้อยลองสตาร์ทด้วยเท้าดูว่าชุดสตาร์ทใช้งานได้หรือไม่ หากมีเสียงดังหรือออกตัวไม่ค่อยไปก็ถอดเปิดและตรวจสอบใหม่ ทำตามขั้นตอนซ้ำเหมือนเดิม

 

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก : cycle-road

 

 

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook