จากทิศทางของกระแสยานยนต์ไฟฟ้า จะเห็นได้เลยว่าในหลายๆ ประเทศทั่วโลกนั้นเริ่มหันมาใช้พลังงานทดแทนใหม่อย่างไฟฟ้ามากขึ้น และประเทศไทยเองก็ได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงให้ได้เห็นกันบ้างแล้ว เพราะในปัจจุบันบนท้องถนนมีผู้ใช้รถพลังานไฟฟ้าให้เราได้เห็นมากขึ้น โดยเฉพาะการขนส่งแบบเดลิเวอรี่ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้านั้นเป็นที่นิยมและแพร่หลายมากๆ
และด้วยกระแสความน่าสนใจของรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ากำลังมาแรงในครั้งนี้ BoxzaRacing ก็ได้นำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสัญชาติไทยอย่าง ETRAN (อีทราน) รุ่น Myra Gen1.5 มาทดสอบการใช้งานจริงภายในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพกันให้ดูว่ารถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าสัญชาติไทยแบรนด์นี้มีดียังไง
ดีไซน์โดดเด่นไม่เหมือนใคร
เริ่มต้นกันที่ดีไซน์ภายนอกกันก่อน ในครั้งแรกที่เห็นบอกเลยว่าเป็นรถสกู๊ตเตอร์มีคาแรคเตอร์โดดเด่นแปลกตาด้วยตัวเฟรมที่เป็นเอกลักษณ์พร้อมด้วยไฟหน้า LED ทรงกลม ถัดมาคือเรือนไมล์ทรงกลมพร้อมด้วยมาตรวัดความเร็วแบบเข็มอนาล็อก ควบคุมทิศทางอย่างง่ายดายด้วยแฮนด์บาร์ทรงกว้างแบบยกสูง และเบาะนั่งของผู้ขับขี่ขนาดใหญ่ ซึ่งหากมองโดยรวมแล้วรู้สึกว่า ETRAN MYRA GEN1.5 คันนี้แอบมีกลิ่นอายของรถมอเตอร์ไซค์ในยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซ่อนอยู่ในตัวก็ว่าได้
มอเตอร์ไฟฟ้า 7,000 วัตต์ แบตเตอรี่ 1 ลูกใช้งานได้ 125 กม.
ถัดมาในส่วนของกำลังขับเคลื่อน ETRAN MYRA GEN1.5 ส่งพละกำลังผ่าน HUB มอเตอร์ไฟฟ้า 7,000 วัตต์ แรงบิด 200 นิวตันเมตร น้ำหนักตัวรถอยู่ที่ 90 กก. (ไม่รวมแบตเตอรี่) ส่วนแบตเตอรี่สามารถจุพลังงานได้ 51 แอมป์อาว์/ลูก แบตเตอรี่ 1 ลูก น้ำหนักอยู่ที่ 27 กก. วิ่งได้ไกลถึง 125 กม และถ้าใส่แบตเตอรี่ 2 ลูก ก็จะสามารถใช้งานได้มากถึง 250 กม. และการชาร์ต 1 ครั้งใช้เวลาประมาณ 4-6 ชม.
ด้านสมรรถนะช่วงล่างซับแรงสั่นสะเทือนด้วยโช้คอัพหน้าเทเลสโคปิค และโช้คอัพหลัง KYB (KAYABA) ที่เป็นมาตรฐานญี่ปุ่น มาพร้อมจานดิสก์เบรคหน้า/หลัง แบรนด์ Sunstar และหยุดรถได้อย่างมั่นใจด้วยปั๊มล่างของ Nissin เสริมความหล่อด้วยปั๊มตู้ปลาที่เป็นของแต่งจาก Racing Boy ซึ่งในส่วนของช่วงล่าง MYRA GEN1.5 เป็นของที่ใช้ในรถบิ๊กไบค์แทบทุกชิ้น บอกเลยว่าสมรรถนะเหนือชั้นแน่นอน
ETRAN MYRA GEN1.5 ขี่สนุก ควบคุมง่าย ท็อปสปีด 120 กม./ชม.
สิ่งที่สัมผัสได้ในการขับขี่ครั้งแรกเลยก็คือความแรงของ HUB มอเตอร์ไฟฟ้าที่ล้อหลังมีกำลังมากถึง 7,000 วัตต์ กับแรงบิด 200 นิวตันเมตร บอกเลยว่าทำเอาหน้าเหวออยู่ไม่น้อย เนื่องจากกำลังของถูกขับออกมาจากมอเตอร์โดยตรง ซึ่งไม่ต้องรอรอบเหมือนกับรถเครื่องยนต์สันดาป จึงทำให้คันเร่งของรถไฟฟ้านั้นตอบสนองได้ไวกว่า แต่เมื่อปรับตัวจนคุ้นชินกับคันเร่งแล้วต้องบอกเลยว่าบิดมันส์มือมากๆ แรงบิดกับพละกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้ามีให้ใช้แบบเหลือๆ การเร่งแซง หรือส่งกำลังดันขึ้นทางชันทำได้อย่างสบายๆ และท็อปสปีดที่สามารถทำได้คือ 120 กม./ชม. (สามารถทำความเร็ว 0 - 100 กม./ชม. ใน 7วินาที) โดยในจุดนี้เป็นหนึ่งในจุดแข็งของ ETRAN MYRA GEN1.5
ในส่วนของโพซิชั่นการขับขี่พร้อมด้วยแฮนด์บาร์สูงทรงกว้าง ทำให้การควบคุมไปตามทิศทางที่ต้องการได้อย่างสบายๆ ตัวรถมีมุมเลี้ยวที่แคบมากๆ การขับขี่ซอกแซก มุดเลี้ยวตามช่องการจราจรที่ติดขัดในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ จึงไม่ใช่เรื่องยาก ด้านมิติตัวรถมีความกระทัดรัด แต่ต้องใช้ความคุ้นชินสักนิดนึงเมื่อต้องมุดเลี้ยว เพราะช่วงความยาวที่เยอะกว่ารถสกู๊ตเตอร์ทั่วไป แต่ถ้าคุ้นเคยแล้วบอกเลยว่ารถติดๆ ผ่านไปได้อย่างพริ้วๆ แน่นอน ด้านสมรรถนะของช่วงล่างโช้คอัพหน้าเทเลสโคปิค และโช้คอัพหลัง KYB สามารถซับแรงกระแทกได้ดี ส่วนคาลิปเปอร์ดิสเบรคหน้า/หลัง Nissin สามารถหยุดและชะลอรถได้ตรงตามมาตรฐาน
สรุป
จากที่ได้ทดสอบ ETRAN MYRA GEN1.5 จะเห็นว่าจุดแข็งของรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแบรนด์ไทยคือ สมรรถนะพละกำลังที่มอเตอร์ไฟฟ้า 7,000 วัตต์ แรงบิด 200 นิวตันเมตร โดยสามารถทำได้มากถึง 120 กม./ชม. เป็นรถที่เหมาะกับซึ่งเพียงพอต่อการขับขี่ใช้งานในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นใช้งานขับขี่ ไป-กลับที่ทำงาน รวมไปถึงการขับขี่ในอุตสาหกรรมการขนส่งเดลิเวอรี่ ส่วนความคล่องตัว ด้วยมิติตัวรถที่มีขนาดกระทัดรัด การขับขี่ภายในเมือง หรือช่วงการจราจรที่ติดขัด ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ที่กำลังมองหาสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่มีความคล่องตัวสูงอย่างแน่นอน และอีกหนึ่งจุดที่สำคัญคือการออกแบบ ด้วยทรงเปลือยโชว์เฟรมเหล็กแบบนี้ ทำให้การดัดแปลง ต่อเติม ตกแต่งได้ง่ายกว่า และหลากหลายมากกว่า รถที่มีเปลือกพลาสติกหุ้มทั้งคัน ซึ่งเป็นแนวทางที่ ETRAN ได้ออกแบบมาอย่างใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้พลาสติกน้อยชิ้นที่สุดเพื่อลดการใช้วัสดุที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
ส่วนในเรื่องของความประหยัดแน่นอนว่าเมื่อไม่ต้องเติมน้ำมัน แต่ยังใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ การชาร์จแบตเตอรี่ 2 ลูก ขนาด 51 แอมป์อาว์/ลูก ใช้งานได้มากถึง 250 กม. ใช้ระยะเวลาการชาร์จแบตเตอรี่สองลูก จาก 0 - 100% ใช้เวลาประมาณ 4-6 ชม ครับ คิดเป็นค่าไฟตกประมาณ 35-40บาท ต่อการชาร์จ หรือหากเทียบการกินพลังงานเที่ยบต่อกิโลเมตร คือ กิโลเมตรละ 13-15 สตางค์ เท่านั้น ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าประหยัดกว่ารถน้ำมันสุดๆ และที่สำคัญสำหรับการชาร์จแบตเตอรี่นอกจากการเสียบชาร์จโดยตรงจากตัวรถแล้ว ทาง ETRAN ยังมีสถานีบริการสำหรับ Swap Battery ที่สามารถสับเปลี่ยนได้ทันที โดยมีสถานีบริการทั้งหมด 7 แห่ง ในกรุงเทพฯ และจุดบริการในอนาคตทาง ETRAN ก็มีแผนที่จะขยายสถานีบริการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างแน่นอน
และถ้าหากถามว่า ETRAN MYRA GEN1.5 เหมาะกับใครเราก็ต้องบอกเลยว่าด้วยตัวรถที่ถูกออกแบบมาให้ขับขี่ง่าย และการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน จึงเหมาะตั้งแต่ นักศึกษามหาลัย ไปจนถึงวัยทำงาน และไรเดอร์ที่ขับขี่เดลิเวอรี่ เพราะสมรรถนะของตัวรถและความประหยัดบอกเลยว่าคุ้มค่ามากๆ สุดท้ายนี้ MYRA GEN1.5 มี 3 กลุ่มทางเลือก คือ รุ่น Zero ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 79,800 บาท (เช่าแบตเตอรี่) รุ่น Plus 1 มาพร้อมแบตเตอรี่ 1 ก้อน ราคา 124,800 บาท และ Plus 2 มาพร้อมแบตเตอรี่ 2 ก้อน 163,800 บาท
สำหรับใครที่กำลังมองหารถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าบอกเลยว่า MYRA GEN1.5 เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ตอบโจทย์การใช้งานแน่นอน ด้วยตัวรถที่ถูกออกแบบมาให้ขับขี่ง่าย และการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน อีกทั้งสมรรถนะของตัวรถที่มีมาตั้งแต่โรงงาน กับความประหยัดบอกเลยว่าคุ้มค่ามากๆ และผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ etrangroup.com และ FB Page : ETRANgroup ทั้งนี้ยังสามารถเข้ารวมคอมมูนิตี้พูดคุยแชร์ประสบการณ์ได้ที่ ETRAN TRIBE